วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคของบุหรี่มือ 2




ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคของบุหรี่มือ 2




มะเร็งปอดพบมากน้อยแค่ไหน ? 
   
             สถิติทั่วโลกพบว่า มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 จากโรคมะเร็งในผู้ชาย และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 จากโรคมะเร็งในผู้หญิง สำหรับในประเทศไทย จากสถิติ พ.ศ.2551 พบว่า มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 2 จากโรคมะเร็ง รองจากมะเร็งตับและทางเดินน้ำดีในทั้งเพศชายและเพศหญิง



ทำไมจึงมีอัตราผู้เสียชีวิตสูง ? 
            เนื่องจากเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 1 ในผู้ชาย แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือ ผู้ป่วยมะเร็งปอดเกินครึ่งมาพบแพทย์ในระยะที่ผ่าตัดไม่ได้แล้ว หรือในระยะแพร่กระจาย ซึ่งจะมีโอกาสเสียชีวิตสูง ขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งปอดที่มาพบแพทย์ในระยะแรกๆ และสามารถผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้ โดยบางรายได้รับยาเคมีบำบัดเสริมหลังผ่าตัด มักจะมีชีวิตยืนยาวกว่าผู้ป่วยในระยะแพร่กระจาย


นั่นแสดงว่าโอกาสรอดจากโรคนี้ค่อนข้างน้อย ?
           ในอดีตคงต้องตอบว่าใช่ แต่ในปัจจุบันประชาชนตื่นตัวกันมาก จากการรณรงค์ไม่ให้สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของมะเร็งปอด ส่งผลให้อุบัติการณ์ของมะเร็งปอดในเพศชายเริ่มลดลงทั่วโลก แต่อุบัติการณ์ของมะเร็งปอดทั่วโลกในเพศหญิงดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้หญิงมีการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมเลียนแบบ อย่างไรก็ดีการเข้าใจถึงพิษของบุหรี่ การคิดถึงโรคมะเร็งปอดเมื่อมีอาการไอเรื้อรัง หรือมีอาการไอเป็นเลือดทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็วขึ้น บางรายสามารถผ่าตัดได้ร่วมกับการรักษาที่มีการพัฒนามาก เช่น มีการรักษาเสริมหลังการผ่าตัด และการรักษาด้วยยาที่ดีขึ้น ผู้ป่วยมะเร็งปอดจึงมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานมากขึ้น

การสูบบุหรี่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการเป็นมะเร็งปอด ? 
             มีส่วนมากค่ะ จากสถิติพบว่า ในเพศชายที่เป็นมะเร็งปอดจะเกิดจากการสูบบุหรี่ประมาณร้อยละ 80 และเพศหญิงที่เป็นมะเร็งปอดพบว่าบุหรี่เป็นสาเหตุประมาณร้อยละ 50 โดยจากการศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่ 1 ซองต่อวัน เป็นเวลานาน 30 ปี จะเสี่ยงต่อการตายจากมะเร็งปอด 20-60 เท่าในผู้ชาย และ 14-20 เท่าในผู้หญิง เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว ถ้าสูบนาน 40 ปี


การได้รับบุหรี่มือสองก็ถือเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปอด ? 
           ในปัจจุบันพบว่า คนที่ไม่สูบบุหรี่ ก็เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้จากควันบุหรี่ในสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า Environmental Tobacco Smoke (ETS) หรือควันบุหรี่มือสอง หรือ Secondhand Smoke (SHS) นั่นเอง ควันบุหรี่จากสิ่งแวดล้อมหรือจากควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบมี 2 รูปแบบคือ ควันที่ออกมาจากปลายมวนบุหรี่หรือซิการ์ และควันที่ผู้สูบบุหรี่ โดยมีผลการศึกษาพบว่า ควันบุหรี่จากปลายมวนบุหรี่จะมีสารก่อมะเร็งสูงมากกว่าควันที่ผู้สูบบุหรี่หายใจออกมา

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า ควันบุหรี่มือสองมีสารเคมีอยู่มากกว่า 7,000 ชนิด โดยสารเคมีอย่างน้อย 250 ชนิดเป็นอันตรายต่อร่างกาย และอย่างน้อย 69 ชนิดเป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ เช่น สาร arsenic, benzene, beryllium, โลหะหนัก และฟอร์มาล์ดีไฮด์ เป็นต้น จากการศึกษาพบว่า การได้รับควันบุหรี่มือสองแม้ในระดับต่ำก็ทำให้เกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ยังพบความสัมพันธ์ระหว่างควันบุหรี่มือสองกับมะเร็งชนิดอื่นๆ อีก เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก มะเร็งกล่องเสียงและลำคอ มะเร็งที่สมอง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งเต้านม

          ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า คนอเมริกันเสียชีวิตจากมะเร็งปอดอันมีสาเหตุจากบุหรี่มือสองถึง 3,000 รายต่อปี และการอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกับผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดสูงขึ้นประมาณร้อยละ 20-30 บ้านที่มีผู้สูบบุหรี่อยู่ถือว่าเป็นแหล่งอันตรายมาก เพราะทำให้ผู้อยู่ใกล้ได้รับพิษจากควันบุหรี่มือสอง อย่างเช่นผู้ป่วยมะเร็งปอดผู้หญิงหลายรายของหมอที่มีสามีสูบบุหรี่ แม้บางรายจะบอกว่า เวลาสูบบุหรี่สามีจะออกไปสูบนอกบ้าน หรือบางรายที่สามีสูบบุหรี่ในบ้าน แต่จะไม่สูบในห้องนอน แสดงให้เห็นได้ว่า การได้รับควันบุหรี่มือสองในปริมาณมากบ้างน้อยบ้างก็สามารถทำให้เป็นมะเร็งปอดได้ อย่างเช่นผู้ป่วยรายหนึ่งของหมอที่ทำงานเป็นแคชเชียร์ในสถานบันเทิงที่มีคนสูบบุหรี่หนาแน่นมากเป็นเวลานานถึง 10 ปี และสุดท้ายเธอก็เป็นมะเร็งเต้านม


ถ้ามีคนรอบข้างที่สูบบุหรี่ เราควรจะสื่อสารกับเขาอย่างไร ? 
            ควรบอกถึงผลเสียของการสูบบุหรี่ว่า ทำให้เกิดโรคร้ายจำนวนมาก โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด และนอกจากจะทำให้ผู้สูบป่วยแล้ว ควันบุหรี่ยังมีผลต่อคนรอบข้าง เช่น ภรรยา และบุตร โดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งจะทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจได้ และหากได้รับควันบุหรี่มือสองนานๆ อาจรุนแรงจนเกิดมะเร็งปอดในอนาคต ดังนั้นเราจึงควรให้กำลังใจกับคนรอบข้างให้หยุดสูบบุหรี่ ถึงแม้จะยาก แต่ก็ทำได้ถ้าตั้งใจทำเพื่อคนที่คุณรัก และเพื่อให้คนในครอบครัวปลอดจากโรคมะเร็งปอดและโรคอื่นๆ



ดังนั้นมาร่วมกันรณรงค์ให้ประเทศไทย


เป็นประเทศปลอดควันบุหรี่กัน


เสียทีดีกว่าค่ะ ^^

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น